องค์การบริหารส่วนตำบลหนองบัว

Nongbua Subdistrict Administrative Organization

โรคพิษสุนัขบ้า


ออนไลน์ : 6

หัวข้อ :: โรคพิษสุนัขบ้า

สคร.9 เตือน หากถูกสุนัขกัด!! รีบล้างแผลให้สะอาด และฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้ครบทุกเข็ม

 โรคพิษสุนัขบ้า หรือโรคกลัวน้ำ เกิดจากเชื้อไวรัสเรบีส์ พบในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด เช่น สุนัข แมว โค กระบือ หนู กระรอก กระต่าย ลิง ค้างคาว ในประเทศไทยมักพบในสุนัข แมว และพบบ้างในโคกระบือ โดยเชื้อจะเข้าทางบาดแผลที่ถูกกัด ข่วน หรือเลียบริเวณที่มีบาดแผล รอยถลอก หรือรอยขีดข่วนบาดแผล หรือเลียถูกบริเวณเยื่อบุตา หรือปาก ในปัจจุบันยังไม่มียารักษา แต่สามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีน โดยนำสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนเมื่ออายุ 2 เดือน เข็มที่สองฉีดหลังจากเข็มแรก 3-4 สัปดาห์ และฉีดซ้ำทุกปี หากประชาชนถูกสุนัขกัด ข่วน หรือเลีย ให้รีบล้างแผลด้วยน้ำและสบู่อย่างเบามือนานอย่างน้อย 10 นาที เพื่อกำจัดเชื้อออกไปให้มากที่สุด จากนั้นใส่ยาฆ่าเชื้อที่บาดแผล และไปพบแพทย์เพื่อฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ควรฉีดให้ครบชุดและตรงตามแพทย์นัด และกักสุนัขเพื่อดูอาการ 10 วัน หากสุนัขตายให้ส่งตรวจหาเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า

         นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา กล่าวว่า โรคพิษสุนัขบ้า เป็นโรคที่สามารถพบได้ตลอดทั้งปี หากป่วยแล้วผู้ป่วยจะเสียชีวิตทุกราย ซึ่งโรคพิษสุนัขบ้า เกิดได้ทั้งสุนัข แมว และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด สำหรับในประเทศไทยเกิดจากสุนัขเป็นหลัก ไม่ว่าคนหรือสัตว์ที่ติดเชื้อนี้แล้วต้องเสียชีวิตทุกราย

         สถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าในประเทศไทย ตั้งแต่ วันที่ 1 ตุลาคม 2565 – 11 ตุลาคม 2566 ประเทศไทย พบรายงานผลบวกของโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ จำนวน 337 ตัว จาก 77 จังหวัด พบสูงสุดในจังหวัดอุบลราชธานี 61 ตัว รองลงมา คือ จังหวัดชลบุรี 44 ตัว และจังหวัดสงขลา 29 ตัว

         สถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าในเขตสุขภาพที่ 9 พบรายงานผลบวกของโรคพิษสุนัขบ้า ในจังหวัดสุรินทร์ 16 ตัว ได้แก่ โค 8 ตัว สุนัข 6 ตัว แมว 1 ตัว และสุนัขจิ้งจอก 1 ตัว (ผู้สัมผัสโรคพิษสุนัขบ้าจำนวน 229 คน) และจังหวัดบุรีรัมย์ 15 ตัว ได้แก่ สุนัข 12 ตัว โค 2 ตัว และแพะ 1 ตัว (ผู้สัมผัสโรคพิษสุนัขบ้า จำนวน 47 คน) 

         ในปีงบประมาณ 2566 ประเทศไทยพบผู้เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้า 4 ราย โดยพบที่จังหวัดชลบุรี 1 ราย จังหวัดระยอง 1 ราย และจังหวัดสุรินทร์ 2 ราย (อำเภอสังขะ และอำเภอศีขรภูมิ) สาเหตุการเสียชีวิตจากการถูกสัตว์ กัด ข่วน เลีย ไม่ได้รับวัคซีน (ที่มา : Thai Rabies.net)

         นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน กล่าวต่อไปว่า เราสามารถกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าได้  โดยใช้หลัก 3 ป. ดังนี้ 

         ป.ที่ 1 คือ ป้องกันสัตว์เป็นโรค นำสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า เริ่มฉีดครั้งแรกเมื่ออายุ  2 เดือน เข็มที่สองฉีดหลังจากเข็มแรก 3-4 สัปดาห์ และฉีดซ้ำตามกำหนดทุกปี ทำหมันสุนัขถาวรเพื่อไม่ให้มีจำนวนมากเกินความต้องการ จะช่วยลดจำนวนประชากรสุนัข และหากพบสัตว์ตายผิดปกติ ขอให้ส่งซากสัตว์ไปตรวจหาเชื้อซึ่งปัจจุบันสามารถส่งได้ทั้งตัวไม่ต้องตัดหัว ผู้ที่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ส่งตรวจได้ที่สถานเสาวภา สภากาชาดไทย ต่างจังหวัดส่งที่สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดและอำเภอ

         ป.ที่ 2 คือ ป้องกันการถูกกัด ไม่ปล่อยสุนัขหรือแมวออกนอกบ้านตามลำพัง หากต้องพาออกไปนอกบ้านให้ใส่สายจูง  นอกจากนี้ประชาชนยังสามารถหลีกเลี่ยงการถูกกัดโดยยึดคาถา 5 ย. คือ 1.อย่าแหย่ให้สุนัขโมโห โกรธ   2.อย่าเหยียบหาง หัว ตัว ขา หรือ ทำให้สุนัขหรือสัตว์ต่างๆ ตกใจ 3.อย่าแยกสุนัขที่กำลังกัดกันด้วยมือเปล่า 4.อย่าหยิบชามข้าวหรือเคลื่อนย้ายอาหารขณะที่สุนัขกำลังกินอาหาร และ 5.อย่ายุ่งหรือเข้าใกล้กับสุนัขที่ไม่มีเจ้าของหรือไม่ทราบประวัติ

         ป.ที่ 3 ป้องกันหลังถูกกัด โดยรีบล้างแผลด้วยน้ำและสบู่อย่างเบามือนานอย่างน้อย 10 นาที เพื่อกำจัดเชื้อออกไปให้มากที่สุด จากนั้นใส่ยาฆ่าเชื้อที่บาดแผล เช่น ยาเบตาดีน และกักสุนัขเพื่อดูอาการ 10 วัน หากสุนัขตายให้ส่งตรวจหาเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า และไปพบแพทย์ เพื่อฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ควรฉีดให้ครบชุดและตรงตามแพทย์นัด อาจท่องจำง่ายๆ คือ "ล้างแผล ใส่ยา กักหมา หาหมอ และฉีดวัคซีนให้ครบ" หากประชาชนมีข้อสงสัย สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422

แหล่งที่มา : สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา

 
วันที่ : 30 พฤศจิกายน 542   View : 535