ออนไลน์ : 12
โรคพิษสุนัขบ้า หรือโรคกลัวน้ำ เกิดจากเชื้อไวรัสเรบีส์ พบในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด เช่น สุนัข แมว โค กระบือ หนู กระรอก กระต่าย ลิง ค้างคาว ในประเทศไทยมักพบในสุนัข แมว และพบบ้างในโคกระบือ โดยเชื้อจะเข้าทางบาดแผลที่ถูกกัด ข่วน หรือเลียบริเวณที่มีบาดแผล รอยถลอก หรือรอยขีดข่วนบาดแผล หรือเลียถูกบริเวณเยื่อบุตา หรือปาก ในปัจจุบันยังไม่มียารักษา แต่สามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีน โดยนำสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนเมื่ออายุ 2 เดือน เข็มที่สองฉีดหลังจากเข็มแรก 3-4 สัปดาห์ และฉีดซ้ำทุกปี หากประชาชนถูกสุนัขกัด ข่วน หรือเลีย ให้รีบล้างแผลด้วยน้ำและสบู่อย่างเบามือนานอย่างน้อย 10 นาที เพื่อกำจัดเชื้อออกไปให้มากที่สุด จากนั้นใส่ยาฆ่าเชื้อที่บาดแผล และไปพบแพทย์เพื่อฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ควรฉีดให้ครบชุดและตรงตามแพทย์นัด และกักสุนัขเพื่อดูอาการ 10 วัน หากสุนัขตายให้ส่งตรวจหาเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า
นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา กล่าวว่า โรคพิษสุนัขบ้า เป็นโรคที่สามารถพบได้ตลอดทั้งปี หากป่วยแล้วผู้ป่วยจะเสียชีวิตทุกราย ซึ่งโรคพิษสุนัขบ้า เกิดได้ทั้งสุนัข แมว และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด สำหรับในประเทศไทยเกิดจากสุนัขเป็นหลัก ไม่ว่าคนหรือสัตว์ที่ติดเชื้อนี้แล้วต้องเสียชีวิตทุกราย
สถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าในประเทศไทย ตั้งแต่ วันที่ 1 ตุลาคม 2565 – 11 ตุลาคม 2566 ประเทศไทย พบรายงานผลบวกของโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ จำนวน 337 ตัว จาก 77 จังหวัด พบสูงสุดในจังหวัดอุบลราชธานี 61 ตัว รองลงมา คือ จังหวัดชลบุรี 44 ตัว และจังหวัดสงขลา 29 ตัว
สถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าในเขตสุขภาพที่ 9 พบรายงานผลบวกของโรคพิษสุนัขบ้า ในจังหวัดสุรินทร์ 16 ตัว ได้แก่ โค 8 ตัว สุนัข 6 ตัว แมว 1 ตัว และสุนัขจิ้งจอก 1 ตัว (ผู้สัมผัสโรคพิษสุนัขบ้าจำนวน 229 คน) และจังหวัดบุรีรัมย์ 15 ตัว ได้แก่ สุนัข 12 ตัว โค 2 ตัว และแพะ 1 ตัว (ผู้สัมผัสโรคพิษสุนัขบ้า จำนวน 47 คน)
ในปีงบประมาณ 2566 ประเทศไทยพบผู้เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้า 4 ราย โดยพบที่จังหวัดชลบุรี 1 ราย จังหวัดระยอง 1 ราย และจังหวัดสุรินทร์ 2 ราย (อำเภอสังขะ และอำเภอศีขรภูมิ) สาเหตุการเสียชีวิตจากการถูกสัตว์ กัด ข่วน เลีย ไม่ได้รับวัคซีน (ที่มา : Thai Rabies.net)
นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน กล่าวต่อไปว่า เราสามารถกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าได้ โดยใช้หลัก 3 ป. ดังนี้
ป.ที่ 1 คือ ป้องกันสัตว์เป็นโรค นำสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า เริ่มฉีดครั้งแรกเมื่ออายุ 2 เดือน เข็มที่สองฉีดหลังจากเข็มแรก 3-4 สัปดาห์ และฉีดซ้ำตามกำหนดทุกปี ทำหมันสุนัขถาวรเพื่อไม่ให้มีจำนวนมากเกินความต้องการ จะช่วยลดจำนวนประชากรสุนัข และหากพบสัตว์ตายผิดปกติ ขอให้ส่งซากสัตว์ไปตรวจหาเชื้อซึ่งปัจจุบันสามารถส่งได้ทั้งตัวไม่ต้องตัดหัว ผู้ที่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ส่งตรวจได้ที่สถานเสาวภา สภากาชาดไทย ต่างจังหวัดส่งที่สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดและอำเภอ
ป.ที่ 2 คือ ป้องกันการถูกกัด ไม่ปล่อยสุนัขหรือแมวออกนอกบ้านตามลำพัง หากต้องพาออกไปนอกบ้านให้ใส่สายจูง นอกจากนี้ประชาชนยังสามารถหลีกเลี่ยงการถูกกัดโดยยึดคาถา 5 ย. คือ 1.อย่าแหย่ให้สุนัขโมโห โกรธ 2.อย่าเหยียบหาง หัว ตัว ขา หรือ ทำให้สุนัขหรือสัตว์ต่างๆ ตกใจ 3.อย่าแยกสุนัขที่กำลังกัดกันด้วยมือเปล่า 4.อย่าหยิบชามข้าวหรือเคลื่อนย้ายอาหารขณะที่สุนัขกำลังกินอาหาร และ 5.อย่ายุ่งหรือเข้าใกล้กับสุนัขที่ไม่มีเจ้าของหรือไม่ทราบประวัติ
ป.ที่ 3 ป้องกันหลังถูกกัด โดยรีบล้างแผลด้วยน้ำและสบู่อย่างเบามือนานอย่างน้อย 10 นาที เพื่อกำจัดเชื้อออกไปให้มากที่สุด จากนั้นใส่ยาฆ่าเชื้อที่บาดแผล เช่น ยาเบตาดีน และกักสุนัขเพื่อดูอาการ 10 วัน หากสุนัขตายให้ส่งตรวจหาเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า และไปพบแพทย์ เพื่อฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ควรฉีดให้ครบชุดและตรงตามแพทย์นัด อาจท่องจำง่ายๆ คือ "ล้างแผล ใส่ยา กักหมา หาหมอ และฉีดวัคซีนให้ครบ" หากประชาชนมีข้อสงสัย สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422
แหล่งที่มา : สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา